การที่จะไปก่อสร้างตึกศิริราช ก็เป็นอีกเกร็ดหนึ่ง ที่ทำให้ความคิดอยากจะบวชของนายพยอมรุนแรงมาก เวลานั่งทำงานอยู่บนหลังคาซึ่งอยู่ใกล้ๆ ช่องเข็นศพหรือทางเข็นศพไปสู่ห้องดับจิต ก็มักจะเห็นคนที่มารับศพร้องไห้ เมื่อก้มลงไปดูศพที่เข็นผ่านไป รุ่นเดียวกับนายพยอมก็มี สาวๆ ก็ยังมี หน้าตายังดูเด็กรุ่นๆ อยู่เลย
"...ทุกครั้งที่มีการเข็นศพผ่านไป รู้สึกใจหาย ความตาย การร้องไห้ ความโศกเศร้า มีอิทธิพลอย่างมากต่อการโน้มน้าวจิตใจให้รู้สึกอยากบวช ทำให้รู้สึกสลดมาก เป็นธรรมสังเวชชนิดหนึ่ง ที่ทำให้จิตใจน้อมคิดถึงการบวช มีอิทธิพลสูง สะสมมาเรื่อยๆ จัดว่าเป็นการกระตุ้นโดยสิ่งแวดล้อม..."
|
|
บางคราวนายพยอมขึ้นไปที่ตึกซีอุย ที่นั่นชำแหละศพและดองศพกันเยอะมาก เมื่อนายพยอมไปเห็นแล้วยิ่งเกิดความรู้สึกว่า เนื้อหนังทั้งหลายเหล่านี้ จะไม่สามารถครอบงำจิตใจได้มาก ทำให้ความคิดที่จะบวชรุนแรงขึ้น สูงขึ้น
ต่อมาพ่อเปล่งถึงแก่กรรม ญาติๆ เก็บศพของพ่อเปล่งไว้ พอครบกำหนดที่จะเผา คือก่อนวันเข้าพรรษา 1 เดือน ซึ่งตรงกับวันที่ 16 มิถุนายน พ.ศ.2513 มีการจัดการกันตามธรรมเนียมประเพณี ตอนนั้นนายพยอมมีอายุครบบวชพอดีคือ 20 ปี อุปสมบทที่วัดสังวรพิมลไพบูลย์ โดยมีท่านพระครูนนทประภากร เจ้าคณะอำเภอบางใหญ่ เจ้าอาวาสวัดพิกุลเงิน เป็นพระอุปัชฌาย์ ท่านเดินนำหน้าโลงศพของพ่อรอบเมรุเผาศพ ที่เรียกกันตามธรรมเนียมว่าการจูงศพขึ้นเมรุ ตอนแรกท่านตั้งใจจะบวชเพียง 3 เดือนเท่านั้น แต่ต่อมา เปลี่ยนความตั้งใจใหม่โดยจะบวชให้ได้ครบพรรษา
หลังจากพ่อเปล่งเสียแล้ว ที่บ้านเหลือน้องเพียงคนเดียว เลยมีคนมาถามและคาดคะเนกันเยอะว่า น่าจะบวชได้อย่างมากไม่เกิน 15 วัน |
ตอนแรกๆ ท่านคิดเพียงที่จะบวชตามประเพณีเท่านั้น ท่านเคยกล่าวไว้ว่า ปัจจุบันนี้ไม่ได้คิดเช่นนั้นแล้ว ถ้าคิดว่าบวชตามประเพณี น่าจะผิดพลาดแล้วก็โง่ไปมากด้วย การบวชที่ถูกต้องควรจะเป็นการบวชเพื่อทำลายความทุกข์ ทำลายกิเลสและใช้ชีวิตให้มีประโยชน์
หลังจากบวชแล้ว พระพยอมก็ยังไปที่ตึกซีอุยอยู่เรื่อยๆ บางทีมีศพผูกคอตาย มีศพมาเผาที่วัด ก็จะไปนั่งดูศพ แล้วคิดเพื่อบ่มใจให้คลายความกำหนัด ความหลงไหลในเนื้อหนัง |
|
|
|
การศึกษาพระปริยัติธรรม |
เรียนนักธรรมชั้นตรี ที่วัดอัมพวัน จังหวัดนนทบุรี ด้วยความที่ท่านอยากเรียนมาก ท่านจึงไม่ขาดเรียนเลย เมื่อมีเวลาว่างท่านจะพัฒนาวัดโดยก่อสร้างสิ่งต่างๆ รวมทั้งเขื่อนที่หน้าวัดสังวรพิมลไพบูลย์ด้วย |
|
หลังจากสอบนักธรรมชั้นตรีได้ในปี พ.ศ.2514 มีโยมหลายคนนำวุฒิบัตรนักธรรมชั้นตรีไปยื่นแก่สัสดีอำเภอ เพื่อทำเรื่องขอยกเว้นเข้ารับการเกณฑ์หาร
เริ่มเรียนนักธรรมชั้นโทในปี พ.ศ.2515 ตอนเช้าไปเรียนที่วัดบางไกร ส่วนตอนบ่ายไปเรียนที่วัดบางอ้อยช้าง ทั้ง 2 วัดอยู่ห่างกันพอสมควร ต้องพายเรือไป
สาเหตุที่เรียนนักธรรมชั้นโททั้ง 2 แห่ง เพราะพระอาจารย์ที่สอนนั้นมีวิธีการสอนที่แตกต่างกัน ที่วัดบางอ้อยช้างพระอาจารย์เป็นพระที่จบปริญญาและเป็นมหา ท่านมีวิธีการสอนโดยเน้นให้ผู้เรียนรู้จักวิเคราะห์หลักธรรม ซึ่งเป็นประโยชน์อย่างมากต่อการประยุกต์หลักธรรมเพื่อการเผยแผ่พระพุทธศาสนาในเวลาต่อมา
ส่วนพระอาจารย์ที่วัดบางไกรจะเน้นให้ท่องจำ เวลาอ่านหนังสือจะนั่งอ่านในเรือบิณฑบาต ซึ่งเป็นเรือที่เล็กมาก ถ้าหากง่วง แล้วไม่พยุงเรือไว้ให้ดีๆ เรือจะล่ม นับเป็นอุบายอย่างหนึ่งที่ทำให้ไม่หลับในขณะอ่านหนังสือ ส่วนตอนกลางคืนไม่มีไฟฟ้าใช้ จึงเอาหนังสือเรียน คือ ธรรมวิภาค ไปติดไว้ที่เพดาน ไม่ว่าจะตื่นเวลาใด จะใช้ไฟฉายส่องไปที่หนังสือ แล้วท่องจำ พอผลสอบออกมา ปรากฎว่าสอบได้ที่ 1 ของอำเภอ |
หลังจากนั้น หมอขจร หนูนิ่ม ถวายปัจจัยเป็นค่ารถไฟสำหรับเดินทางไปศึกษาและปฎิบัติธรรมที่สวนโมกข์ หมอขจรเป็นผุ้ที่ชอบอ่านหนังสือของท่านเจ้าคุณอาจารย์พุทธทาสมาก และเคยเดินทางไปที่สวนโมกข์มาก่อน แต่ตอนนั้นพระพยอมเป็นห่วงงานมาก เพราะกำลังทำการก่อสร้างที่วัดสังวรพิมลไพบูลย์ จึงตั้งใจจะอยู่ที่สวนโมกข์เพียง 7 วันเท่านั้น แต่พอไปถึงสวนโมกข์แล้ว กลับรู้สึกประทับใจมาก ประทับใจคำสอนของท่านเจ้าคุณอาจารย์พุทธทาส และประทับใจที่วัดสวนโมกข์มีบรรยากาศ และการจัดการเรื่องสถานที่ไม่เหมือนวัดอื่นๆ พระพยอมจึงเปลี่ยนใจที่จะอยู่จำพรรษาที่สวนโมกข์เลย เมื่อไปขออนุญาตกับท่านเจ้าคุณอาจารย์พุทธทาส ท่านไม่รับเพราะยังเรียนไม่จบนักธรรมชั้นเอก รวมเวลาที่อยู่สวนโมกข์ในครั้งนั้นเพียง 15 วัน
ดังนั้นเมื่อกลับจากสวนโมกข์แล้ว จึงไปเรียนนักธรรมชั้นเอกที่วัดบางอ้อยช้าง จ.นนทบุรี และสำเร็จการศึกษาในปี พ.ศ.2516
หลังจากเรียนจบนักธรรมชั้นตรีแล้ว ท่านกล่าวว่า ความคิดของท่านเปลี่ยนไปมาก และเปลี่ยนแปลงอย่างชัดเจนยิ่งขึ้นเมื่อเรียนจบนักธรรมชั้นโทและเอก คือมีความคิดจะเรียนให้ดีที่สุด จะรู้ให้ลึกซึ้งที่สุดและอยากจะเผยแผ่พระพุทธศาสนา |
|