เกี่ยวกับการปฎิบัติธรรม พระพยอมกล่าวไว้ว่า
"การปฏิบัติธรรมที่ปฏิบัติมากเป็นกรณีพิเศษในช่วงแรกๆ ก่อนที่จะไปสวนโมกข์ก็คือ นั่งเพ่งเทียน ส่วนคำบริกรรมใช้คำว่า สัมมา อรหังบ้าง พองหนอยุบหนอบ้าง หลังจากสวดมนต์เสร็จและพระรูปอื่นๆ ออกไปหมดแล้ว จะนั่งเพ่งเทียนจนหมดแท่ง บางครั้งเกิดนิมิตอะไรบางอย่างมาหลอกให้หลง นึกว่าตัวลอยบ้าง นึกว่าไม่หายใจบ้าง เหมือนกับว่าหมดลมหายใจ ตอนนั้นรู้เพียงเท่าที่บอกกันว่า กสิณมีอำนาจ จะทำให้เกิดปาฏิหารย์ จึงตั้งใจปฏิบัติเพียงเพื่อให้ได้อะไรเป็นพิเศษ ที่เป็นอำนาจอภิญญาเท่านั้น โดยไม่รู้ชัดเจนเลยว่า เป้าหมายของการปฏิบัติที่แท้จริง ควรจะปฏิบัติเพื่อให้เกิดความสงบ และเพื่อการดับทุกข์ หลังจากที่ไปสวนโมกข์มาแล้ว จึงได้เริ่มรู้ว่าปฏิบัติผิดทาง
สิ่งที่ศึกษามากที่สุดตอนจำพรรษาอยู่ที่สวนโมกข์ก็คือ ธรรมบรรยายของท่านเจ้าคุณอาจารย์พุทธทาสฟังแล้วจด การอ่านหนังสือทำให้เกิดความรู้ แล้วจะเริ่มร้อนวิชา จึงอยากจะลองเทศน์ ลองสอน ลองเผยแผ่ เมื่อไปยืนดูพระรูปอื่นที่เก่งๆ อธิบายภาพปริศนาธรรมที่อยู่ในโรงมโหรสพทางวิญญาณ ท่านอธิบายได้ดีมาก คนชอบ มีความเข้าใจ ซาบซึ้งและพอใจ จึงอยากจะอธิบายบ้าง เวลาที่พระเหล่านั้นไม่อยู่ หรือเผลอ จะถือโอกาสนั้นบรรยายต่อจากท่าน ทำเช่นนั้นจนกระทั่งเกิดเรื่องปาฏิหารย์ขึ้น คือ คนที่ไปสวนโมกข์ แล้วอยากจะไปเที่ยวต่อที่อื่นอีก 7-9 แห่ง แต่เมื่อฟังการบรรยาย กลับรู้สึกชอบใจ จึงฟังการบรรยายต่อและไม่ไปเที่ยวที่อื่นตามโปรแกรมที่จัดไว้ เป็นเช่นนี้อยู่นานพอสมควร จึงได้มีโอกาสบรรยาย 7-8 ชั่วโมงต่อวันในเวลาต่อมา.."
"...ที่สวนโมกข์มีการจัดคอร์สสอนกรรมฐานตามแนวยุบหนอพองหนอ ท่านมหาบุญสร้างเป็นผู้สอนต้องปฏิบัติกันอย่างเคร่งครัด ปฏิบัติกันจนถึง 5 ทุ่ม นอนเพียงคืนละ 3-4 ชั่วโมงเท่านั้น ทุกคืนหลังจาก 5 ทุ่มไปแล้ว จะไปปฏิบัติต่อบนเขานางเอ และเดินกลับลงมาตอนประมาณตี 3 เป็นการปฏิบัติเรื่องทรมาน ความกลัว สู้กับความกลัว เพราะบนเขานางเอ เคยมีผู้หญิงผูกคอตาย ระหว่างเดินขึ้นไปบนเขา มืดมาก ไฟฉายที่มีอยู่เกิดถ่านหมดพอดี มีต้นไม้ที่ตะไคร่เกาะหนาจนดำทะมึนขวางอยู่ข้างหน้า คิดว่าเป็นเปรตขวางทาง จึงยืนนิ่งจนเริ่มรู้สึกชินกับความมึด แต่เผอิญไฟฉายที่ดับไปนั้น ถ่านตีกลับออกมา ทำให้มีไฟติดขึ้นมาอีกครั้ง แต่ลางๆ เมื่อฉายดูใหม่ปรากฎว่าเป็นท่อนไม้นี่เอง..."
"...ส่วนท่านเจ้าคุณอาจารย์พุทธทาส จะสอนเรื่องอานาปานสติ ท่านกล่าวไว้ว่า
"...คล้ายๆ กับอาหารมีหลายถ้วย เรากินหลักอยู่ถ้วยหนึ่ง นอกนั้นเป็นอาหารจร ตักถ้วยนั้นหน่อย ลองชิมดูว่า ถ้วยไหนถูกปาก..."
เลยนำมาประยุกต์ เสมือนหนึ่งว่าตักยุบหนอพองหนอบ้าง สัมมาอรหังบ้าง ทำกสิณบ้าง แต่จะปฏิบัติอานาปานสติเป็นหลัก
การปฏิบัติที่เคร่งครัดอีกเรื่องหนึ่งคือ การฉันอาหารมื้อเดียว ทดลองฉันน้อย บางวันฉันถ้วยเดียว บางครั้งก็ทดลองฉันถ้วยเดียว บางครั้งก็ทดลองฉันวันเว้นวัน หรือฉันทุกๆ 2 วัน ขึ้นไปอดอาหารอยู่บนภูเขาเพื่อจะจับความรู้สึกต่างๆ
ที่ใดที่ลือกันว่ามีผีมีอันตรายจะไปนอนอยู่รูปเดียว เช่น ที่วัดที่ท่านเจ้าคุณอาจารย์พุทธทาสเคยจำพรรษาอยู่ครั้งแรก คือวัดตระพังจิก ที่นั่นเค้าลือกันว่าผีดุ คืนแรกเป็นคืนที่น่ากลัวที่สุด นอนไม่หลับ กิ่งไม้หล่นมากิ่งเดียว เหมือนกับฟ้าผ่าหลังคา ท่านเจ้าคุณอาจารย์พุทธทาสเคยกล่าวไว้ว่า วิธีแก้ความกลัวคือ เวลาที่พบอะไรที่น่ากลัว ให้ยืนกำหนดลมหายใจ"
|
จาริกธุดงค์ |
ตอนที่ยังจำพรรษาอยู่ที่สวนโมกข์ พระพยอมได้ออกจาริกธุดงค์หลายจังหวัดในภาคใต้ ท่านเคยเล่าว่า การจาริกธุดงค์ครั้งนั้น จริงๆ แล้วเป็นแบบกึ่งธุดงค์กึ่งทัศนาศึกษา ต้องการไปดูบ้านดูเมือง ดูวัฒนธรรม ประเพณีของท้องถิ่นต่างๆ ที่จาริกธุดงค์ผ่านไป และที่สำคัญก็คือ ต้องการทรมานตนเอง เพื่อไม่ให้เป็นคนติดถิ่น ในขณะนั้น พระภิกษุมักจะติดถิ่นกัน ไม่ไปไหนเลย กลายเป็นคนถิ่นยึดไว้
ท่านได้ตอบคำถามเกี่ยวกับวัตรปฏิบัติในขณะที่จาริกธุดงค์ว่า
"...ที่เด็ดเดี่ยวมากก็คือ ฉันอาหารมื้อเดียว และไม่ซื้ออะไรฉันเลย ผอมมาก เพราะอาหารไม่ค่อยพอฉัน ฉันได้ถ้วยเดียว บางวันบิณฑบาตไม่ได้ บางวันบิณฑบาตได้เพียงกล้วยและผลไม้บ้างเท่านั้น
ตอนกลางวันจะอ่านหนังสือมากที่สุด ที่เอาติดไปด้วยได้แก่หนังสือที่ท่านเจ้าคุณอาจารย์พุทธทาสเขียนไว้ เช่น ขุมทรัพย์จากพระโอษฐ์ อริยสัจจ์จากพระโอษฐ์ พุทธประวัติจากพระโอษฐ์ ปฏิจจสมุปาทจากพระโอษฐ์ เป็นต้น ถ้ารู้สึกง่วง จะเดินจงกรม
กลางคืนจะเจริญสมาธิภาวนา และเดินจงกรมบ้างสลับกันไป ส่วนเวลานอนจะนอนบนหินเพราะกลัวงูกะปะ ทางใต้จะมีหินงอกจากดินสูงขึ้นมาจากพื้น เป็นหินแดง เวลานอนจะรู้สึกร้อนที่หลังมากจนแทบพองไหม้ เพราะหินงอกที่ใช้เป็นที่นอนนั้นตากแดดอยู่ทั้งวัน พอตกดึกจะรู้สึกหนาวมาก น้ำค้างที่ตกลงมาทำให้ที่นอนเปียกไปหมด..."
|
|
ท่าเล่าจากความทรงจำต่อไปว่า
"การจาริกธุดงค์ทำให้มีโอกาสปลีกตัวไปอยู่ตามป่าตามเขา ได้วิเวก ไม่คลุกคลีกับคน ได้มุมสงบ เวลาทั้งหมดไม่ได้ยุ่งกับใคร ดูแต่ตัวเอง"
มีบทกลอนหนึ่งของท่านเจ้าคุณอาจารย์พุทธทาสที่พระพยอมชอบมาก บทกลอนนั้นได้แก่
"จงรู้จัก ตัวเอง" คำนี้หมาย
ว่าค้นพบ แก้วได้ ในตัวท่าน
หากนอนตัว ทำไม ให้ป่วยการ
ดอกบัวบาน อยู่ในเรา อย่าเขลาไป
ในดอกบัว มีมณี ที่เอกดุตม์
เพื่อนมนุษย์ ค้นหา มาให้ได้
การตรัสรู้ หรือรู้ สิ่งใดใด
ล้วนมาจาก ความรู้ ตัวสูเอง ฯ
|