ฟังธรรมะออนไลน์

ฟังธรรมะออนไลน์

คณะกรรมการ
มูลนิธิสวนแก้ว


ระเบียบการ
การบรรพชา – อุปสมบท
(บวชพระ - บวชเณร)


เล่าไว้เมื่อวัย73ปี พระราชธรรมนิเทศ

วารสารกัลยาโณ

ปฏิทินธรรม2568




หนังสือโฉนดกล้วยแขก ภาค2 "รู้... เท่าทัน... คำพิพากษ่า Not standrd สุดซอย"

 
อ่านเพิ่มเติมที่นี่







การครองสมณเพศ มีส่วนดีอย่างไร
"ส่วนดีที่ชัดเจนก็คือว่า ได้รู้ได้เข้าใจวิธีการที่จะให้ทุกข์ลดลงไป ได้มากกว่าที่เราไม่ได้บวช ไม่ได้ครองสมณเพศ เมื่อตอนที่ไม่ได้ครองสมณเพศ จะจมอยู่ในความทุกข์โดยไม่รู้เลย แล้วก็ไม่รู้ว่าเหตุมาจากอะไร ไม่รู้วาระที่มันดับกันที่มันเกิด จะไม่เคยเทียบเคียงเลย ตอนเกิดก็ปล่อยให้เกิดไป ตอนดับก็ไม่ได้สังเกต จนกระทั่งหมดโอกาส สมัยที่เรายังไม่บวชแทบจะไม่มีโอกาสเลย ที่จะสร้างวิธีที่จะชนะทุกข์ดับทุข์ทั้งของตนและของสังคม ไม่เคยคิดมากเพราะมันมุ่งมากแต่เรื่องกิน กาม เกียรติ เพราะฉะนั้นต้องถือว่าได้ประโยชน์

สิ่งที่สำคัญที่สุดก็คือว่า เราบั่นทอนศักยภาพของทุกข์และปัญหาด้วยการค่อยๆ คลายความไม่รู้ ตอนเป็นฆราวาส เป็นวัยรุ่นคึกคะนองจนกระทั่งไปก่อเรื่องก่อปัญหามาโดยไม่ควรจะก่อ แต่ความไม่รู้เป็นตัวศักยภาพให้ก่อให้สร้างปัญหาและทุกข์มาก พอบวชแล้วมีเวลามากขึ้น ก็จะมองอย่างที่ท่านสอนให้มองว่า เมื่อบวชแล้วเหมือนขึ้นอยู่ในภาวะของอุดมเพศซึ่งเป็นเพศสูง เหมือนคนขึ้นอยู่บนภูเขาแล้วมองเห็นเด็กเล่นฝุ่นเปรอะเลอะมั่วกันไปหมด ก็นั่งนึกภูมิใจว่า ไม่เหมือนเด็กโง่อยู่ข้างล่างที่ไปเกลือกกลั้วกับกิน กาม เกียรติ จนกระทั่งเประเลอะท่วมตัวไปหมด เหมือนหมูเกลือกดินจนเป็นดินพอกหางหมู ตอนนั้นสภาพมันเป็นอย่างนี้ รู้สึกอย่างนี้ จึงทำให้คิดบวชได้เรื่อยๆ เพราะว่าขึ้นมาที่สูงแล้ว จะไปเล่นกับฝุ่นอีกก็ไม่สมควร ก็เลยทำให้สภาพเป็นนักบวชทรงเราไม่ให้ตกไปสู่ความเลอะเทอะ สกัดกั้นศักยภาพของทุกข์ และปัญหาอันเกิดจากความไม่รู้ เพราะว่าโลกชวนกันไม่ให้รู้เรื่องความจริงมากกว่าที่จะให้รู้ว่า อนิจจัง ทุกจัง อนัตตา แล้วก็ช่วยกันให้รู้แต่เรื่องสนุกสนานรื่นเริงบันเทิงใจ มากกว่าที่จะ รู้ทุกข์รู้เหตุให้เกิดทุกข์ รู้ความดับทุกข์และรู้วิธีให้ทุกข์ดับ รู้วาระจรของทุกข์ที่หมดไป ตรงนี้เป็นประโยชน์แก่การบวช"
 
สูญเสียอะไรจากการบวช
"...ถ้าถามในความรู้สึกจริงๆ ความคิดว่าสูญเสียแทบจะไม่มี แต่ถ้าเทียบทางโลกคิดแบบชาวบ้าน จะรู้สึกว่าเสีย เช่น เสียโอกาสในการมีกิน มีกาม มีเกียรติเหมือนชาวบ้าน น่าจะได้กินอะไรอร่อยๆ ตลอดเวลา กลางคืนจะออกเที่ยวไปหากินก็น่าจะออกไปกินได้ เสียโอกาสตรงนี้ เสียโอกาสเห็นแก่ปากแก่ท้อง ถ้าเป็นชาวบ้าน จะรู้สึกว่า อยู่เป็นพระ ปากแห้ง ท้องหิว เขาไม่รู้ว่าอาหารมันไม่ได้มีแค่ปากท้อง แต่มันยังมีที่ใจ

เพราะฉะนั้น ถ้าจะพูดภาษาชาวบ้าน ก็คือเสียโอกาสปากท้อง ไม่ได้กินเต็มที่ ไม่ได้กินอร่อย ไม่ได้กินพร่ำเพรื่อ และเสียโอกาสที่จะมีแฟนสวยๆ มีกามที่จะบริโภค รูป รส กลิ่น เสียง ไว้บำเรอปรนเปรอชีวิตทุกรูปแบบที่เขามีกินในปัจจุบัน ไม่ได้ไปเสพสุขในทางกามคุณ ซึ่งคนกำลังแสวงหาว่าได้มาแล้วมีความสุข เราเสียโอกาสไม่ได้สัมผัส รูป รส กลิ่น เสียง สัมผัสในแบบนุ่มนวลชวนให้ลุ่มหลง ให้ชื่นชอบให้ครอบงำให้ไหลตามกระแสของโลกที่เขาต้องการจะมีกัน แต่เราไม่มีโอกาส ชาวโลกมองว่าเราเสีย

ถ้าจะว่าสูญเสีย ก็คือเสียโอกาสเรื่อง กิน กาม เกียรติ ที่ชาวบ้านแสวงหากันไว้ เต็มยุ้งเต็มฉาง ตักตวงกันไว้ตลอด แต่เรารู้สึกเป็นบุญเลยที่ได้เสียสิ่งที่ผูกรัดมัดใจเราไว้หลายภพ หลายชาติ เรียกว่าเสียโอกาสยื่นคอให้สังโยชน์มัดคอ ไว้ให้เกิดลาภไปทุกภพทุกชาติ

แต่ถ้าพูดในภาษาชาวโลก เขาจะว่าเราเสีย แต่ถ้ามองในแง่ทางธรรม จะถือว่าเป็นการเสียที่รอดปลอดภัยที่สุด ถ้าไม่เสียและไปมัวได้อย่างนั้น ก็จะติดตลอดชาติ จะไม่รอด ไม่มีโอกาสหลุดรอดไปสู่ภาวะที่เบาสบาย โปร่งโล่ง ไม่มีภาระในครอบครัว ได้เป็นพลังให้กับแผ่นดิน เพราะว่าเราไม่ติดภาระเลี้ยงดูใครคนใดคนหนึ่ง หรือในครอบครัว ก็ทำให้เราเป็นพลังของศาสนา ของชาติ ของบ้านเมือง ของแผ่นดิน"
 
พระผู้เสียสละ
จะมีอะไรอีกเล่าที่จะมีคุณค่าเกินกว่า การเสียสละ และจะมีอะไรอีกเล่า ที่จะประเสริฐล้ำค่าเหนือกว่าการบำเพ็ญเพียรในการสละออก การสละออกของพระพยอมมีค่าสูงยิ่งต่อผู้ที่ตกอยู่ในห้วงแห่งทุกข์ ต่อผู้ที่ไร้ที่พึ่งพิงอาศัย ต่อผู้ที่ขาดปัจจัยในการพัฒนาศักยภาพของตน

ด้วยความแยบยลที่ครบพร้อมในความอิสระจากทรัพย์ ในการสละเพื่อพระพุทธศาสนา สละเวลา สละแรงกาย สละความคิด สละเพื่อความสุขสบายของผู้อื่น สละเพื่อให้ผู้อื่นสมความปรารถนา สละแม้กระทั่งภาพลักษณ์ของตัวท่านเอง...

การสละออกเหล่านี้ นำมาซึ่งความประจักษ์ชัดของการเป็นที่พึ่งของความหมดสิ้น ของความมืดมน ของการขาดที่พึ่งพิงอาศัย ของการเปิดโอกาสให้คนดีได้เข้ามารับใช้สังคมส่วนรวม ช่วยเหลือผู้ด้อยโอกาส ผู้พิการ คนยากจน เด็กที่ถูกทอดทิ้ง และคนชรา ตลอดจนสัตว์เร่ร่อนให้ได้รับความพอเพียงอยู่ภายในใจ

ท่านเป็นตัวอย่างของการเสียสละ ของความขยัน เข้มแข็งและอดทน ของการรู้จักประหยัดอดออม เป็นตัวอย่างของการรู้จักพึ่งพาตนเอง การอนุรักษ์ธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ตลอดจนนำสิ่งของที่ใช้แล้วกลับมาใช้ใหม่ โดยไม่ใช้ทรัพยากรธรรมชาติอย่างฟุ่มเฟือย

ไม่มีคำอื่นจะกล่าวได้อย่างลึกซึ้งไปเกินกว่านี้อีกแล้วว่า พระพยอม กัลยาโณ คือ พระผู้เสียสละที่ล้ำเลิศและมีคุณค่ายิ่ง...ในบวรพุทธศาสนา
 
 
  มูลนิธิสวนแก้ว

เลขที่ 55/1 หมู่ 1 ต.บางเลน อ.บางใหญ่ จ.นนทบุรี 11140
55/1 M.1 Bang lane Subdistrict, BangYai District Nonthaburi 11140, Thailand
Tel : (66)02-595-1444, (66)02-595-1946
Fax. (66)02-921-5022
 
 
โอนเงินร่วมบริจาค ชื่อบัญชี
มูลนิธิสวนแก้ว โดยพระราชธรรมนิเทศ
 ธนาคารกสิกรไทย สาขา บางใหญ่ เลขที่บัญชี เลขที่ 269-2-12533-1
Email : bookkan54@gmail.com
©2020 Kanlayano All rights reserved.