ความทรงของโยมพี่สาวและโยมพี่ชาย "เกี่ยวกับพระพยอม" |
ธรรมชาติและความเป็นอยู่เมื่อ 60 กว่าปีที่แล้วผ่านมา ยังอยู่ในความทรงจำของโยมพี่สาวและโยมพี่ชายของพระพยอมอยู่เสมอ ท่านทั้งสามได้ช่วยกันเล่าถึงบรรยากาศเก่าๆ ในสมัยนั้นให้ฟังว่า...
เมื่อถึงเวลาหน้านา คือในช่วงฤดูฝน ประมาณเดือนหก พ่อเปล่งและแม่สำเภา จั่นเพชร พร้อมด้วยลูกๆ ทั้ง 3 คน ได้แก่ ผึ่ง,ผูก และณรงค์ เดินทางออกจากบ้านสวนที่อยู่ริมคลองขวาง อ.บางใหญ่ จ.นนทบุรี ตั้งแต่ตี5 โดยแจวเรือผ่านคลองบางม่วง, คลองอ้อม, คลองบางรัก, ประตูน้ำบางบัวทอง, คลองพิมล, คลองตระไคร้ และถึงคลองลากฆ้อนในที่สุด เมื่อเวลาประมาณ 6 โมงเย็นกว่าๆ
ทุกคนออกจากเรือ แล้วขึ้นที่คันคลอง เดินต่อไปอีกประมาณ 20 วา จึงจะถึงโรงนาซึ่งตั้งอยู่บนโคก ที่มีเนื้อที่ประมาณ 1 ไร่เศษๆ ทั้ง 5 ชีวิตพักอยู่ในโรงนาแห่งนี้ |
|
รอบๆ โคก จะขุดบ่อน้ำไว้ กว้างประมาณ 3 วา ลึกประมาณ 2 วา มีการทำคันรอบนอกและทำทางออกจากโคกไปสู่นา โยมพี่สาวคนรองเล่าว่า
"บ่อนี่ขุดกันเอง เอาน้ำไว้กินไว้ใช้ ไว้อาบ น้ำในบ่อสะอาดใส ใสจนมองเห็นตัวปลาว่ายไปมา"
ที่นาดังกล่าวนี้ ตั้งอยู่ริมคลองลากฆ้อน ต.บ่อเงิน อ.ลาดหลุมแก้ว จ.ปทุมธานี เริ่มแรกมีเนื้อที่ประมาณ 18 ไร่ พอหมดหน้านา พ่อเปล่งและแม่สำเภาจะกลับไปทำสวนที่บางใหญ่ ส่วนลูกๆ ทั้ง 3 คนไม่ได้กลับไปด้วย เนื่องจากโรงเรียนยังไม่ปิดเทอม พ่อเปล่งและแม่สำเภาจึงให้ลูกๆอยู่กับลุง
เมื่อเด็กๆ ทั้ง 3 คนโตขึ้น ก็เริ่มช่วยพ่อแม่ดำนาและเก็บหญ้าในนา โยมพี่สาวคนรองรำลึกความทรงจำเกี่ยวกับแม่สำเภาให้ฟังว่า
"แม่ขยันมาก แม่รักเรา เราก็รักแม่ แม่จะทำอะไร เราก็ช่วย ตี3 ตี 4 ยังไม่ทันสว่างเลย แม่ลุกขึ้นมาหุงข้าวแล้ว พอหุงข้าวเสร็จ แม่ก็ออกไปรดน้ำ ไปพรวนดิน แม่ฟันดินปลูกมะเขือ น้อยหน่า มัน ฟักทอง แตงไทย"
ในแต่ละวัน พ่อเปล่งและแม่สำเภาจะออกไปทำนากันตั้งแต่ตี 5 และกลับมาที่โรงนาเพื่อกินข้าวเที่ยง หลังจากนั้นออกไปนากันอีกเพื่อไปต่อคันนา และกลับสู่โรงนาอีกครั้งเมื่อพระอาทิตย์ตกดิน
โยมพี่สาวคนโตเล่าว่า "พอฉันกลับจากโรงเรียน ก็จะหุงข้าว ฉันทำกับข้าวเอง แม่หัดไว้ แกงต้มได้ทุกอย่าง สมัยก่อนใช้หม้อดิน เตาที่ใช้ก็เป็นดิน พวกเราใช้ฟืนหุงหาอาหารกัน เพราะสมัยก่อนมีไม้เยอะ ต้นไม้ขึ้นเองตามชายคลอง ทำครัวก็ทำกันที่ข้างนอกโรงนา ฉันเป็นคนสีข้าวเอง สีเอาไว้ให้แม่ได้ตำตอนกลางคืน พอสีข้าวเสร็จแล้วก็จะสับฟืนทิ้งไว้... ไว้พ่อแม่จะได้ไม่ต้องทำ" |
|
ส่วนลูกคนอื่นๆ จะช่วยกันตักน้ำ ซักผ้า รดน้ำต้นไม้ พรวนดิน บริเวณรอบๆ โรงนาจะปลูกพืชชนิดต่างๆ
ประมาณเดือนสิบเอ็ด หลังจากเก็บเกี่ยวข้าว นวดข้าวเรียบร้อยแล้ว พี่น้องทั้ง 3 ชีวิตจะสร้างรายได้ด้วยการขายไข่ ขายไก่ ขายมะม่วงและขายมัน แต่พอถึงหน้าน้ำลด คือเดือนสิบบสอง จะช่วยกันช้อนกุ้งเพื่อนำกุ้งมาทำเป็นกะปิ
ในหน้าแล้งประมาณเดือนสามเดือนสี่ จะช่วยกันวิดบ่อปลา ปลาที่ได้ ได้แก่ ปลากระดี่, ปลาหมอ, ปลาช่อน, ปลาดุก เป็นต้น ปลาที่ตัวเล็กๆ จะนำมาทำปลาร้า ส่วนปลาที่ตัวโตๆ จะนำมาตากแดดเพื่อทำเป็นปลาเค็ม
ผลผลิตที่ได้ บางส่วนจะเก็บไว้รับประทานเอง บางส่วนก็เก็บเอาไว้แลกกับเพื่อนบ้านบ้าง และบางส่วนแม่สำเภาจะนำไปขายที่บ้านสวน
|
หลังจากแม่สำเภาให้กำเนิดเด็กชายพยอมแล้ว พ่อเปล่งและแม่สำเภายังจำเป็นต้องเดินทางไปๆ มาๆ ระหว่างสวนและที่นา ปู่และย่าจึงรับภาระเลี้ยงดูหลานชายที่เพึ่งกำเนิดมา แทนพ่อเปล่งและแม่สำเภา แต่ก็มีบางครั้งที่พ่อเปล่งและแม่สำเภาจะพาเด็กชายพยอมไปที่ อ.ลาดหลุมแก้วด้วยเมื่อถึงฤดูทำนา
ปู่และย่าของเด็กชายพยอมมีสวนอยู่ริมคลองขวางประมาณ 2-3 ไร่ หรือ 3 ขนัด (ในสมัยก่อนนิยมเรียกขนาดของสวนเป็น "ขนัด" หนึ่งขนัดจะมีเนื้อที่ประมาณ 1 ไร่) ท่านทั้งสองยกสวนนี้ให้ลูกๆ ช่วยดูแล พืชสวนที่ปลูกในขณะนั้นได้แก่ ส้มเขียวหวาน หมาก มะพร้าว กล้วย ละมุด เป็นต้น ในสมัยนั้นมักจะพายเรือไปขายกัน ส้มเขียวหวานจะนับขายกันเป็นร้อย ลูกใหญ่ๆ ขายร้อยละ 30 บาท
เด็กชายพยอม มีพี่น้องทั้งหมด 11 คน แต่เสียชีวิตไปแล้วหลายคน ได้แก่ คนที่หนึ่ง, คนที่สอง, คนที่หก, คนที่เจ็ด, คนที่แปดและคนที่สิบเอ็ด เหลือเพียง 5 คนเท่านั้นที่มีชีวิตรอด เนื่องจากการแพทย์ยังไม่ค่อยเจริญ ผุ้คนส่วนใหญ่มักจะเสียชีวิตตั้งแต่อายุยังน้อย ด้วยโรคฝีดาษและโรคมาลาเรีย
โยมพี่สาวคนรองเล่าว่า "สมัยที่พระยังเล็กๆ พี่ๆ จะไปเที่ยว ไปดูหนังดูลิเก ก็ต้องเอาไปด้วย พอง่วงนอน ก็เอาผ้าขนหนูปู แล้วก็เอาหัวพาดตัก เพราะว่ายังเด็กอยู่ ไปไหนก็ต้องเอาไปด้วย เดี๋ยวตื่นขึ้นมาไม่เจอใครจะร้อง..."
เมื่ออายุได้ 8 ขวบ เด็กชายพยอมเข้าเรียนหนังสือที่โรงเรียนวัดสังวรพิมลไพบูลย์ เป็นเด็กไม่ค่อยพูด แต่กล้าแสดงออกตั้งแต่ยังเล็กๆ โยมพี่ชายเล่าว่า
"...ตอนที่พระยังเป็นเด็กๆ ชอบพูดเลียนเสียงแขกขายผ้า เช่น 10 บาทไป 20 บาทมา ชอบพูดเลียนเสียงคนอ่านข่าว ชอบฟังเพลงของทูล ทองใจ และเพลงของสมยศ ทัสนพันธ์ แต่ไม่ชอบร้องเพลง เวลาไปเที่ยวก็มักจะไปเที่ยวงานวัด ดูหนังกลางแปลงที่วัดสังวรฯ บ้าง หรือไม่ก็ที่วัดพิกุล เวลาไปทำบุญ พวกเรามักจะไปทำบุญกันที่วัดสังวรฯ |
|
ส่วนเรื่องการกินอยู่ จัดว่าเป็นคนกินง่าย ชอบกินผัก แม้แต่ยอดหญ้าที่ขึ้นบนหลังคาก็ยังกินได้ เป็นคนไม่ดื้อ เวลาเล่น ก็เล่นกันแบบธรรมดาๆ มีความรับผิดชอบและไม่ทำอะไรเสียหาย
สิ่งที่ทำเป็นประจำก็คือ ตื่นนอนตั้งแต่ตี 5 แล้วไปรดต้นส้ม หลังจากกินข้าวเสร็จแล้วจึงจะไปโรงเรียน พอกลับจากโรงเรียนพ่อจะให้ดายหญ้าวันละแคมร่องสวน ดายหญ้าเสร็จแล้วจึงจะไปเล่น โดยมากจะเล่นกับพี่ๆ น้องๆ ลูกลุงลูกป้า เด็กๆ สมัยนั้นมักจะชอบเล่นหมากฮอส, เล่นหนังหยอดหลุม หรือไม่ก็เอาฝาหอยโข่งมาทำเป็นเบี้ยแล้วโยนลงหลุม..."
หลังจากสูญเสียแม่สำเภา เด็กชายพยอมได้บวชเณรหน้าไฟเป็นเวลาเกือบ 1 เดือน ซึ่งเป็นการบวชตามประเพณี
เมื่อนายพยอมอายุได้ 20 ปี พ่อเปล่งได้เสียชีวิตลง นายพยอมจึงเข้ารับการอุปสมบทเป็นพระภิกษุ ณ วัดสังวรพิมลไพบูลย์
การบวชของท่าน นำมาซึ่งความปลามปลื้มยินดีแก่ครอบครัวเป็นอย่างมาก เพราะนอกจากท่านจะได้ทำหน้าที่ของลูกที่ดีแล้ว ท่านยังเป็นกำลังสำคัญในการเผยแผ่หลักคำสอนของพระพุทธองค์ ให้เป็นที่รู้และเข้าใจแก่คนทุกระดับชั้น และที่สำคัญ ท่านยังเป็นที่พึ่งของประชาชนผุ้ยากไร้ ทำให้เขาเหล่านั้นมีคุณภาพชีวิตที่ดีขั้น อันนำมาซึ่งความภาคภูมิใจของคนทุกคนในครอบครัว |
|
|